การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
การทำสมาธิ
ในแนวทางของท่านซายาจี อูบาขิ่น
คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ
วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้ถูกค้นพบอีกครั้งโดยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปี คำว่า วิปัสสนา หมายถึง การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่ตั้งมั่น เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากล คือ ความไม่เที่ยง(อนิจจัง) ความทุกข์(ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน(อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาวะธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ตรงของท่านเอง เป็นการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นของสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้คนทุกคนจึงมีอิสระที่จะสามารถปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ในทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันต่อทุกๆคน โดยทั่วถึง
วิปัสสนานั้นมิใช่อะไร:
- ไม่ใช่พิธีกรรมที่มีพื้นฐานทางความเชื่อถืออย่างงมงาย
- ไม่ใช่เรื่องบันเทิงทางปัญญาหรือปรัชญา
- ไม่ใช่การพักฟื้น การหยุดพักผ่อน หรือโอกาสที่จะมาสังสรรค์กัน
- ไม่ใช่การหลีกหนีจากปัญหาและความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน
วิปัสสนาคืออะไร:
- คือวิธีการในการขจัดความทุกข์
- คือวิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ
- คือศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เป้าหมายของวิปัสสนากรรมฐานคือการยกระดับจิตใจ เพื่อการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง และการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด มิได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการบำบัดรักษาโรคทางกาย แต่เป็นผลพลอยได้จากการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ทำให้อาการป่วยทางจิตต่างๆถูกขจัดออกไป แท้จริงแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3 ประการ คือ โลภ โกรธ หลง และด้วยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง วิปัสสนาจะช่วยคลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และแก้ไขนิสัยความเคยชินเก่าๆ ที่คอยแต่จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยจิตที่ขาดสมดุล คือมีความชอบความพอใจ และความไม่ชอบไม่พอใจ ต่อสถานการณ์ต่างๆ
แม้ว่าวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาจะถูกค้นพบขึ้นมาใหม่โดยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติก็มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จึงไม่มีใครต้องเปลี่ยนศาสนา วิธีปฏิบัติตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมดาสามัญที่ว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนๆ กัน และวิธีที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ จะต้องเป็นวิธีที่สากล มีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ เคยมีประสบการณ์และได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว พบว่ามิได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อของตนที่มีอยู่เดิม
วินัยต่อตนเองในการปฏิบัติ
กระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการปฏิบัติวิปัสสนา มิใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างแน่นอน ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความพยายามของตนเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ไม่มีใครอื่นที่จะทำแทนได้ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ และเคร่งครัดต่อระเบียบ เพื่อประโยชน์ และเป็นการคุ้มครองตนเอง กฎระเบียบต่างๆ เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติกรรมฐาน
หลักสูตร 10 วัน เป็นระยะเวลาที่สั้นสำหรับการเจาะลึกไปถึงระดับจิตไร้สำนึก และเรียนรู้วิธีขจัดความไม่บริสุทธิ์ที่นอนเนื่องอยู่ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยไม่พูดหรือเกี่ยวข้องกับใคร เป็นเคล็ดลับของความสำเร็จในวิธีการนี้ กฎระเบียบต่างๆจึงถูกกำหนดขึ้น กฎเกณฑ์ต่างๆ มิได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อความสะดวกในการบริหาร หรือเพื่อปฏิเสธประเพณีคำสอน หรือความเชื่องมงายของบางศาสนา แต่มีฐานมาจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานนับพันๆ คนเป็นเวลาหลายปี และยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ การรักษากฎระเบียบจะทำให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติ แต่การฝ่าฝืนกฎระเบียบจะทำลายบรรยากาศในการปฏิบัติกรรมฐาน
ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องอยู่จนจบหลักสูตร และจะต้องอ่านกฎระเบียบต่างๆโดยพิจารณาอย่างรอบคอบ เฉพาะผู้ที่คิดว่าสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ได้เท่านั้น ควรสมัครเข้าปฏิบัติ ผู้ที่ไม่พร้อมที่จะทุ่มเทความพยายามในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ควรสมัคร เพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังจะเป็นการรบกวนผู้อื่นที่ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้สมัครจะได้รับคำเตือนว่า หากปฏิบัติไม่จบหลักสูตรเนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยากที่จะปฏิบัติตาม จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง กรณีที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือ เมื่อถูกเตือนหลายครั้ง แต่ยังปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่ได้ ก็จะถูกขอให้ออกจากการอบรม
ผู้ป่วยทางจิตประสาท
บางครั้งผู้ป่วยทางจิตสมัครมาเข้าอบรมวิปัสสนาด้วยความเข้าใจผิดว่า จะช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการป่วยทางจิตของตน แท้จริงแล้ว การขาดมนุุษยสัมพันธ์ และมีประวัติการรักษาทางจิตเวชเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติวิปัสสนา ทำให้ไม่ได้รับประโยน์ใดๆจากการมาเข้าอบรม หรืออาจทำให้ไม่สามารถอยู่จนจบหลักสูตร 10 วันได้ แม้การปฏิบัติวิปัสสนาจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มิใช่วิธีที่จะนำมารักษาแทนแพทย์หรือจิตแพทย์ เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติให้บริการโดยอาสาสมัครทั้งสิ้น มิใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถดูแลบุคคลผู้มีปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นผู้มีปัญหาทางจิตประสาทจึงไม่ควรสมัครเข้ารับการอบรม
คำแนะนำในการเข้าอบรม
รากฐานของการปฏิบัติวิปัสสนา คือศีล — การปฏิบัติตนอยู่ในศีล ศีล เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ — ความตั้งมั่นของจิต; และกระบวนการชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจาก ปัญญา — คือการรู้แจ้งเห็นจริง
ศีล
ผู้เข้ารับการอบรมวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ตลอดการอบรม ได้แก่:
- เว้นจากการฆ่าสัตว์;
- เว้นจากการลักทรัพย์;
- เว้นจากการประพฤติผิดในกาม;
- เว้นจากการพูดเท็จ;
- เว้นจากการเสพของมึนเมา
สำหรับผู้ปฏิบัติเก่า(คือผู้ที่เคยผ่านการอบรมหลักสูตร 10 วัน กับท่านอาจารย์โกเอ็นก้า หรืออาจารย์ผู้ช่วยมาแล้ว) จะต้องถือศีลเพิ่มอีก 3 ข้อในระหว่างการอบรม คือ:
- เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล;
- เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย;
- เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม
สำหรับการรักษาศีลข้อ 6 ผู้ปฏิบัติเก่า สามารถดื่มแต่เพียงน้ำปานะ หรือชาไม่ใส่นม ในเวลาพัก 5 โมงเย็น ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่ อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้ ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ สามารถขออนุญาตอาจารย์ยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา
การยอมรับอาจารย์และวิธีการปฏิบัติ
ตลอดหลักสูตรการอบรม ผู้ปฏิบัติจะต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำและคำสอนของอาจารย์ทุกประการ นั่นคือผู้ปฏิบัติจะต้องทำตามกฎระเบียบและปฏิบัติตามวิธีการที่อาจารย์สอน โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น และควรยอมรับด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ความเชื่ออย่างมืดบอด ด้วยทัศนคติที่เชื่อมั่นในอาจารย์เท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความตั้งมั่นในการปฏิบัติ ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา
วิธีการปฏิบัติ พิธีกรรม และรูปแบบการบูชาอื่นๆ
ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เช่น อดอาหาร การจุดธูปเทียน นับลูกประคำ ร่ายมนตราคาถา สวดมนต์ ฟ้อนรำเป็นต้น การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติเพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องละเว้นด้วย ทั้งนี้มิใช่เป็นการต่อต้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ แต่เพื่อให้สามารถพิจารณาถึงผลซึ่งมาจากการปฏิบัติวิธีนี้โดยไม่คลางแคลงจากการนำวิธีอื่มมาผสม
การนำวิธีปฏิบัติอื่นๆมาผสมผสนานกับวิธีการปฏิบัตินี้ จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าหรืออาจจะทำให้การปฏิบัติถดถอย แม้จะมีคำเตือนซ้ำๆจากอาจารย์ก็ตาม แต่ก็ยังเกิดกรณีที่ผู้ปฏิบัติได้นำพิธีกรรมหรือวิธีการปฏิบัติอื่นๆมาผสมผสาน จนทำให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ความสงสัยหรือความสับสนที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ควรได้รับคำอธิบายให้กระจ่างโดยการพบอาจารย์
การเข้าพบอาจารย์
ท่านสามารถเข้าพบอาจารย์เป็นการส่วนตัวได้ในระหว่างเวลา 12.00 - 13.00 น. และสามารถถามคำถามกับอาจารย์ได้ในห้องปฏิบัติรวมระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น. การพบกับอาจารย์ผู้ช่วยสอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ หรือข้อสงสัยใดๆจากธรรมบรรยายตอนเย็น
กฎการรักษาความเงียบ
ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะต้องรักษากฎความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นหลักสูตรจนถึงเช้าของวันที่ 10 การรักษาความเงียบนี้ รวมถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยจะต้องไม่มีการพูดจา และต้องงดการสื่อสารกับผู้ปฏิบัติอื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ
ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพูดกับอาจารย์ได้เมื่อจำเป็น และติดต่อกับธรรมบริกรได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ แต่ควรให้มีการติดต่อให้น้อยที่สุด ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนควรตระหนักว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว
การแบ่งแยกชายหญิง
มีการแยกชายหญิงอย่างเด็ดขาดตลอดการอลรม แม้กระทั่งคู่สมรสก็ไม่ควรติดต่อสื่อสารกันในระหว่างการอบรม เช่นเดียวกันกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือผู้ปฏิบัติอื่น
การสัมผัสทางกาย
สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่มีการสัมผัสกันทางกายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ตลอดระยะการอบรมและตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์
โยคะและการออกกำลังกาย
แม้การฝึกโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ แต่ระหว่างการอบรมนี้ ควรหยุดไว้ก่อน รวมถึงการวิ่งออกกำลังกาย เพราะศูนย์ปฏิบัติไม่มีสถานที่ที่จัดไว้สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ผู้ปฏิบัติสามารถเดินออกกำลังกายได้ในระหว่างชั่วโมงพัก ในบริเวณที่กำหนดให้
เครื่องรางของขลัง ลูกประคำ สิ่งบูชา หรือศาสนวัตถุอื่นๆ
ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาในบริเวณศูนย์ หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ จะต้องฝากไว้กับผู้จัดการหลักสูตรจนกว่าจะจบการอบรม
ของมึนเมาและยาเสพติด
ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาทเข้ามาในศูนย์ หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามแพทย์สั่ง ควรแจ้งให้อาจารย์ทราบ
ยาสูบ
เพื่อสุขภาพความเป็นอยู่ของผู้ปฏิบัติทุกท่าน ห้ามสูบบุหรี่ เคี้ยวยาเส้น หรือดมยาใดๆ ตลอดระยะเวลาการอบรม
อาหาร
เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถจะจัดหาอาหารพิเศษตามความต้องการของผู้ปฏิบัติทุกท่านได้ จึงขอให้ผู้เข้าอบรมรับประทานอาหารมังสวิรัติที่เหมาะสมต่อสุขภาพและการปฏิบัติที่ศูนย์จัดเตรียมไว้ให้ และไม่อนุญาตให้อดอาหาร หากผู้ปฏิบัติท่านใดมีปัญหาสุขภาพซึ่งต้องรับประทานอาหารตามที่แพทย์กำหนด ควรจะระบุในใบสมัคร
การแต่งกาย
การแต่งกายควรเรียบง่ายและสวมสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง เสื้อไม่มีแขนหรือสายเดี่ยว กระโปรงสั้น กางเกงรัดรูปหรือขาสั้น และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนผู้ปฏิบัติอื่น
การซักผ้าและการอาบน้ำ
ทางศูนย์ฯไม่มีเครื่องซักผ้าหรือเครื่องเป่าผ้าบริการ ท่านจึงควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ ท่านสามารถซักผ้าชิ้นเล็กๆ เองได้ การอาบน้ำหรือซักผ้าควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น ไม่ใช่ในระหว่างชั่วโมงปฏิบัติ
การติดต่อกับบุคคลภายนอก
ผู้ปฏิบัติจะต้องอยู่ในบริเวณที่กำหนดตลอดการฝึก ท่านสามารถออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากอาจารย์ ผู้ปฏิบัติจะไม่มีการติดต่อสื่อสารใดๆกับภายนอก ซึ่งรวมถึงการใช้โทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบผู้ที่มาเยี่ยม ท่านต้องฝากโทรศัพท์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆใว้กับฝ่ายจัดการจนกว่าจะจบการฝึกอบรม ในกรณีฉุกเฉิน ญาติ หรือเพื่อนสามารถติดต่อมาทางฝ่ายจัดการได้
ดนตรี การอ่านและเขียน
ไม่อนุญาตให้เล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำหนังสือหรือเครื่องเขียนเข้ามาในศูนย์ฯ ผู้ปฏิบัติไม่ควรรบกวนตนเองด้วยการจดบันทึก ข้อห้ามในการอ่านและเขียน เพื่อให้ความสำคัญกับการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด
เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป
เป็นข้อห้าม นอกจากจะได้รับการยกเว้นจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น
ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน
เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ การดำเนินการอบรมจะมาจากเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว และจะรับเงินบริจากจากผู้ที่เคยผ่านหลักสูตร 10 วัน กับท่านอาจารย์โกเอ็นก้า หรืออาจารย์ผู้ช่วยมาแล้วเท่านั้น การรับบริจากจะทำในวันสิ้นสุดการอบรม
ด้วยเหตุนี้ เงินที่ใช้ในการจัดการอบรมทั้งหมด จึงมาจากผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ตนได้รับจากการปฏิบัติในแนวทางนี้ และปราถนาให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เป็นการบริจากตามกำลังของแต่ละบุคคล เงินบริจากนี้เป็นแหล่งเงินทุนเพียงแห่งเดียวที่จะนำมาใช้ในการจัดอบรม และเป็นหลักการดำเนินงานแบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิหรือบุคคลใดๆ อาจารย์และผู้ดำเนินงานล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆจากการจัดอบรม วิธีนี้ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ โดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้นไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ เจตนาที่ปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน "ในเมื่อมีผู้ที่เคยผ่านการอบรมแล้ว ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ขณะนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง เพื่อเขาจะได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติวิปัสสนาเช่นเดียวกับข้าพเจ้า"
สรุป
สาระสำคัญของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้
จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่าให้ไปรบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากถูกผู้อื่นรบกวน
อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้ารับการอบรมไม่เข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบข้อใดข้อหนึ่ง จึงควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ให้เกิดความกระจ่าง ต้องไม่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเคลือบแคลงและเข้าใจผิดมากขึ้น
การปฏิบัติตามระเบียบและมีความพยายามอย่างเต็มที่เท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจวิธีและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติ สิ่งที่จะเน้นในการอบรมคือ "ต้องปฏิบัติ" หลักสำคัญคือการปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราปฏิบัติอยู่ตามลำพัง ด้วยจิตที่ระลึกรู้อยู่แต่ภายในตน เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่อาจได้รับ
ประการสุดท้าย ผู้ปฏิบัติควรตระหนักว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่ดีของตน และการพัฒนาตนใน 5 ปัจจัย คือ ความเพียร ความเชื่อมั้นในตนเอง ความจริงใจ สุขภาพพลานามัย และปัญญา
ขอให้กฎระเบียบ และข้อแนะนำต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ท่านได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าอบรม เรายินดีที่ได้มีโอกาสให้บริการแก่ท่าน ขอให้ทุกท่านได้รับความสงบและสันติสุขจากการปฏิบัติวิปัสสนาโดยทั่วกัน
ตารางเวลาการอบรม
ตารางเวลาของการอบรมถูกออกแบบมาเพื่อความต่อเนื่องในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ปฏิบัติทุกท่านจึงควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
04:00 น. | ระฆังปลุก | |
04:30 น. - 06:30 น. | นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว | |
06:30 น. - 08:00 น. | อาหารเช้า | |
08:00 น. - 09:00 น. | ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม | |
09:00 น. - 11:00 น. | ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด | |
11:00 น. - 12:00 น. เที่ยง | อาหารกลางวัน | |
12:00 น. - 13:00 น. | พักผ่อน และเข้าพบอาจารย์ | |
13:00 น. - 14:30 น. | ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว | |
14:30 น. - 15:30 น. | ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม | |
15:30 น - 17:00 น. | ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด | |
17:00 น. - 18:00 น. | พักดื่มน้ำปานะ | |
18:00 น. - 19:00 น. | ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม | |
19:00 น. - 20:15 น. | ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม | |
20:15 น. - 21:00 น. | ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม | |
21:00 น. - 2130 น. | สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม | |
21:30 น. | พักผ่อน--ดับไฟ |
ท่านสามารถดาวน์โหลด คำแนะนำในการเข้าอบรมข้างต้นในรูปแบบ Adobe Acrobat ได้ ที่นี่ กรุณาอ่านคำแนะนำในการเข้าอบรมโดยละเอียด ก่อนกรอกใบสมัคร ท่านสามารถสมัครเข้าอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน โดยการกรอกใบสมัครและส่งตามตารางอบรมหน้าเว็บไซต์